วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555


ปากกาจับชิ้นงาน
ปากกาจับชิ้นงาน ( Bench Vise ) หรือที่ใครหลาย ๆ คนอาจจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า ปากกาจับงาน เป็นเครื่องมือช่างชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับประกอบหรือใช้สำหรับการทำงาน โดยใช้จับ ยึด บีบ อัด ชิ้นงานให้แน่นเพื่อสะดวกต่อการปฏิบัติงานอื่น ๆ เช่น ใช้จับไม้ โลหะ พลาสติก ฯลฯ เพื่อใช้ในการการตัด ตัดเจาะ ตอก ขัด ตีดัด หรือตะไบ เป็นต้น ปากกาจับชิ้นงานมีหลายชนิด เช่น
1.ปากกาจับโลหะ เป็นปากกาที่ยึดแน่นบนโต๊ะสำหรับใช้งาน ใช้สำหรับจับโลหะให้แน่นเพื่อตัด ขัด เจาะ ตะไบ ลบคม หรือขันชิ้นงานต่างๆ
การบำรุงรักษา
ไม่ควรใช้ปากการองรับเหล็กเพื่อทุบ จะทำให้ปากกาแตกหักได้ง่าย
- ทำความสะอาดทุกส่วนของปากกาจับชิ้นงาน หลังจากทำความสะอาดปากกาจับชิ้นงานเสร็จ ให้ชโลมด้วยน้ำมันเพื่อป้องกันสนิม
- เมื่อเลิกใช้งานขันปากกาเข้าไปให้มิดชิด
2.ปากกาจับไม้ มีอยู่หลากหลายแบบแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของการใช้งาน เช่น
 2.1 ปากกาหัวโต๊ะ เป็นปากกาที่ยึดแน่นอยู่กับด้านข้างหัวโต๊ะใช้งาน ใช้สำหรับจับไม้ในการตัด
การบำรุงรักษา
- เมื่อเลิกใช้งานขันปากกาเข้าไปให้ชิด
- ทำความสะอาดทุกส่วนของปากกาจับชิ้นงาน  หลังจากที่ทำความสะอาดปากกาจับชิ้นงานเสร็จ ให้ใส่จารบีที่เกลียวหมุนของปากกาจับชิ้นงาน
 2.2ปากกาจับไม้ เป็นปากกาสำหรับจับชิ้นงานไม้ อัดชิ้นงานให้เข้าด้วยกัน ซึ่งเหมาะกับงานขนาดเล็ก
การบำรุงรักษา
- เมื่อเลิกใช้งานให้เลื่อนปากกาเข้าชิดกัน ขันเกลียวให้ชิด
- ทำความสะอาดทุกส่วนของปากกาจับชิ้นงาน หลังจากที่ทำความสะอาดปากกาจับชิ้นงานเสร็จ ให้ชโลมน้ำมัน และทาจารบีที่เกลียวของปากกาจับชิ้นงานไว้ให้ชุ่ม
 2.3 ปากกาจับไม้ เป็นปากกาจับชิ้นงานที่มี 2 ส่วนเป็นไม้ เลื่อนเข้าหากันโดยใช้ เกลียวน๊อตขนาดใหญ่เป็นไม้หรือเป็นน๊อตโลหะ ซ้าย ขวา ใช้สำหรับบีบ อัด ไม้แผ่นเข้าหากันให้แน่น
การบำรุงรักษา
- เมื่อเลิกใช้ทำความสะอาดทุกส่วนของปากกาจับชิ้นงาน
- ขันเกลียวน๊อตทั้ง 2 ข้าง ให้ตัวปากกาเข้าหากันให้แน่น
- ทาจารบีที่เกลียวน๊อต (โลหะ)
 2.4ปากกาอัดไม้หรือแม่แรงอัดไม้ เป็นปากกาจับชิ้นงานที่ใช้สำหรับในการอัดไม้เข้าหากันให้แน่น เช่น การอัดพื้น อัดไม้แผ่น อัดประกอบชิ้นงาน มีขนาดความยาวติดเป็นเมตร เช่น 1 เมตร 0.50 เมตร 2.00 เมตร เป็นต้น
การบำรุงรักษา
  1. เมื่อเลิกใช้ให้เลื่อนปากกาเข้าชิดกัน แล้วขันเกลียวให้ชิด
  2. ทำความสะอาดทุกส่วนของปากกาจับชิ้นงาน หลังจากที่ทำความสะอาดปากกาจับชิ้นงานเสร็จ ให้ชโลมน้ำมัน และทาจารบีที่เกลียวของปากกาจับชิ้นงาน
  3. เลื่อนหน้าจับไม้ด้านท้ายเข้าหาด้านหน้า แล้วขันเกลียวให้หน้าทัง 2 ชิดกัน
  4. ไม่ใช้ปากกาอัดไม้เป็นที่รองรับในการทุบเหล็ก หรือทุบตะปู
 2.5 ซีแคลม (C-clamp) เป็นเครื่องมือรูปตัว C ทำด้วยเหล็กหล่อ ใช้สำหรับจับงานโลหะเพื่อการเชื่อม จับงานไม้สำหรับในการอัดไม้แผ่นติดกัน มีขนาดความโตเป็นนิ้ว
การบำรุงรักษา
- หน้าสัมผัสจับงานให้เรียบอยู่เสมอ
- เกลียวทาจารบีเสมอ
- อย่าใช้แรงอัดมากเกินไป อาจทำให้หักได้
- ไม่ใช้รองรับในการทุบเหล็กหรือตะปู
3. ปากกาจับไม้ติดโต๊ะ สำหรับจับไม้เวลาวัด ตัด
การบำรุงรักษา
-ต้องคอยทำความสะอาด และหยอดน้ำมันกันเสนิมอยู่เสมอ
อ้างอิงจาก  www.boomtools.net


เครื่องมือช่าง ไขควง(Screwdriver)


            ไขควง เป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานที่เราสามารถพบเจอได้ทั่วไป ใช้สำหรับการขันนอต และสกรู ที่ด้ามจับจะมีฉนวนหุ้มเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โดยขนาด และรูปทรงของไขควงจะถูกออกแบบตามลักษณะการใช้งาน ไขควงประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลัก ๆ 3 ส่วน ได้แก่ ด้ามไขควง(Handle) ก้านไขควง(Blade or Ferule) และปากไขควง(Tip)

                ด้ามไขควง – ถูกออกแบบให้มีรูปทรงที่สามารถจับได้อย่างถนัดมือ การบิดไขควงไปมาสามารถทำโดยใช้แรงได้มากสุด โดยส่วนใหญ่แล้วด้ามของไขควงจะทำจากวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ไม้ พลาสติก หรืออาจทำจากโลหะบางชนิด ก็ตามแต่ลักษณะการใช้งานครับ

                ปากไขควง – ปากไขควงทำจากเหล็กกล้าเกรดดี อาจจะเป็นทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็ได้ โดยเหล็กกล้าเหล่านี้จะถูกนำไปตีขึ้นรูปให้ลาดแบน และชุบแข็งด้วยความร้อน ในส่วนที่ไม่ได้ตีขึ้นรูป ก็จะกลายเป็นก้านไขควง

                ก้านไขควง – สำหรับไขควงที่เป็นก้านกลม จะใช้สำหรับงานเบา ส่วนไขควงที่เป็นก้านเหลี่ยม ก็จะใช้สำหรับงานหนัก เพราะก้านที่เป็นเหลี่ยมของมันจะสามารถใช้ประแจหรือคีมจับเพื่อเพิ่มแรงบิดของงานได้นั่นเอง

ไขควงมีอยู่ 2 ประเภทคือ
1.    ไขควงปากแบน คือ ไขควงที่มีลักษณะปากแบนเป็นเส้นตรง ลาดเอียงไปยังสุดของปลายไขควง ใช้ไขสกรูที่เป็นร่องเส้นเดียว
2.     ไขควงปากแฉก คือ ไขควงที่มีลักษณะปากเป็นสี่แฉก

ใช้ไขสกรูที่มีร่องของสกรูเป็นสี่แฉก เวลาบิดจะต้องใช้แรงกดที่ด้ามมากว่าไขควงปากแบน เพื่อไม่ให้เหลี่ยมของไขควงหลุดออกจากร่อง

นอกจากไขควงทั้ง 2 ประเภทนี้แล้ว ก็ยังมีไขควงอีกหลายประเภท ที่เป็นที่รู้จักกันเฉพาะในวงการช่าง เช่น

ไขควงปากบล็อก คือ ไขควงที่มีลักษณะปากเป็นบล็อกหกเหลี่ยม ใช้สำหรับสกรูที่มีร่องเป็นหกเหลี่ยม

ไขควงหัวคลัตช์ คือ ไขควงที่ใช้เฉพาะสำหรับงานโลหะแผ่น และงานตบแต่งที่ต้องการความประณีตสวยงาม

ไขควงเยื้องศูนย์ หรือ ไขควงออฟเสท คือ ไขควงที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับงานที่ไขควงปากแบนและไขควงปากแฉกใช้งานไม่ได้ เช่น ตามซอกมุมต่างๆ ไขควงชนิดนี้จะมีปากไขควงอยู่ที่ปลายก้านไขควงทั้งสองด้าน และก้านไขควงที่อยู่ตรงกลางทำหน้าที่เป็นด้ามไขควงด้วย แต่การใช้งานไขควงประเภทนี้จะต้องระวังหน่อย เพราะไขควงประเภทนี้จะหลุดออกจากสกรูได้ง่าย และทำให้สกรูเสียหายได้

                ก่อนจะใช้งานไขควงแต่ละครั้ง จะต้องตรวจสอบสภาพไขควงให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานทุกครั้ง คือ ปากไขควงจะต้องเรียบ ไม่มีรอยบิด เพราะไขควงที่ชำรุดสึกหรอ ไม่เรียบตรง ปากมีรอยบิดหรือแตกร้าว เมื่อไขควงเหล่านี้ถูกนำไปใช้งาน ปากของไขควงจะไม่สามารถสัมผัสกับร่องของหัวสกรูได้เต็มที่ เมื่อผู้ใช้งานออกแรงบิด ปากไขควงอาจเกิดการลื่นหลุดออกจากหัวสกรูและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้

วิธีใช้และการบำรุงรักษา

1.  ไม่ควรใช้ไขควงแทนสกัด ค้อน หรือสิ่ว

2.  ไม่ควรใช้ไขควงที่เปื้อนน้ำมัน เพราะอาจเกิดการพลาดพลั้งกระแทกมือได้

3.  ควรเลือกใช้ไขควงที่มีลักษณะปากตรงกับชนิดของหัวสกรู

4.  การใช้ไขควง ควรจับที่ด้ามของไขควง ไม่ควรใช้คีมจับด้ามไขควงขันสกรู

5.  ถ้าไขควงชำรุดต้องซ่อมทันที

6.  หลีกเลี่ยงการใช้ไขควงถอดหรือคลายสกรูเก่าที่ชำรุด

7.  เมื่อเลิกใช้แล้วควรทำความสะอาดและเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย

อ้างอิงจาก www.boomtools.net

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555


"คีม"

 (Pliers)

                คีม เป็นเครื่องมือช่างขนาดเล็กที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เพราะมีความจำเป็นต่องานช่างหลาย ๆ สาขา ไม่ว่าจะเป็น ช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา หรือช่างโลหะ เราใช้คีมสำหรับงาน จับ ดัด ตัด งอ โค้ง และการขึ้นรูปชิ้นส่วนของอุปกรณ์ ซึ่งส่วนมากจะใช้ในงานตัดวัตถุที่ไม่แข็งแรงมากนัก เช่น สายไฟ หรือ ลวด เป็นต้น
                คีมที่ใช้ในงานอิเล็กทรอนิกส์จะต้องมีฉนวนหุ้มที่ด้ามจับทั้ง 2 ขา ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยในการทำงาน โดยคีมแต่ละชนิดจะมีรูปร่าง และขนาดที่แตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน คีมบางชนิดจะถูกออกแบบขึ้นเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย เช่น สามารถใช้ได้ทั้งงานจับ และตัดชิ้นงาน คีมบางชนิดจะมีข้อต่อเลื่อนเพื่อใช้ในการปรับขนาดความกว้างของปากในการจับชิ้นงานได้ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน
                การแบ่งประเภทและการเรียกชื่อของคีม จะขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1.               คีมปากจระเข้ หรือ คีมปากรวม (บางท่านอาจเรียกว่าคีมใช้หลายอย่าง เป็นเครื่องมือช่างที่มีลักษณะการนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย คือ สามารถจับชิ้นงาน และมีฟันสำหรับใช้ตัดชิ้นงานอยู่ภายในตัวเดียวกัน ปากด้านในมีลักษณะแบน มีร่องฟันช่วยให้จับชิ้นงานได้โดยไม่ลื่น สามารถใช้ตัดลวด และสายไฟได้ดี

2.               คีมปากนกแก้ว หรือ คีมตัด เป็นเครื่องมือช่างที่ใช้สำหรับงานตัดโดยเฉพาะ ปากคีมมีลักษณะคล้ายกับปากนกแก้ว ส่วนปลายของปากจะมีลักษณะเป็นคมตัดโดยหันขวางกับด้านคม ที่ด้ามจับมีฉนวนหุ้มเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ใช้สำหรับตัดเหล็ก เส้นลวด คีมชนิดนี้ไม่สามารถจับชิ้นงานได้

3.               คีมปากจิ้งจก หรือ คีมปากยาว เป็นเครื่องมือช่างที่ใช้สำหรับการจับชิ้นงานขนาดเล็ก หรือในส่วนที่แคบที่คีมปากจระเข้ไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้คีมปากจิ้งจกยังสามารถใช้ในการดัด โค้งงอสายได้อีกด้วย
 วิธีใช้และวิธีบำรุงรักษา
1. ควรใช้คีมให้เหมาะกับงาน
2. ไม่ควรใช้คีมแทนค้อน หรือใช้ค้อนตีลงบนคีม เพราะคีมอาจจะเสียหายได้
3. ไม่ใช้คีมขันสกรูหรือเกลียว เพราะอาจจะทำให้ปากคีมเสียหาย
4. ไม่ควรใช่คีมในการตัดวัสดุที่มีความแข็ง ตัวตะปู สกรู หรือสายไฟขนาดใหญ่ เพราะอาจจะทำให้ปากคีมหมดสภาพความคม
5. ปากของคีมไม่ควรใช้ในงานงัดแงะสิ่งของ เพราะจะทำให้ปากของคีมหักเสียหายได้
6. ไม่ควรให้คีมโดนน้ำหรือเก็บในที่ชื้น
7. ควรตรวจสภาพฉนวนหุ้มก่อนใช้งาน
8. เมื่อเลิกใช้ควรทำความสะอาดเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
อ้างอิงจาก www.boomtools.net

ค้อน


“ค้อน”

(HAMMER)

                ค้อน เป็นเครื่องมือช่างที่ใช้สำหรับทุบหรือตอกลงบนวัตถุอื่น ๆ ค้อนสามารถแบ่งออกเป็นหลาย ๆ ชนิดตามรูปร่างและลักษณะการใช้งาน ตัวอย่างเช่น
1.               ค้อนหงอน (Hammer tool)เป็นค้อนที่ใช้สำหรับตอก ส่วนหัวของค้อนหงอนสามารถใช้ถอนตะปูได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ค้อนหงอนในการตอกสิ่ว และตอกไม้เวลาทำโครงร่างได้อีกด้วย
2.               ค้อนหัวกลม (Ball Peen Hammer)เป็นค้อนที่นิยมใช้กันมากที่สุด ลักษณะทั่วไปของค้อนหัวกลมจะมีหน้าเรียบ ส่วนหน้าตัดจะมีลักษณะกลม ผิวนูนโค้งเล็กน้อย สามารถใช้งานได้ทั้งสองหน้า  ค้อนหัวกลมจะถูกใช้ในงานเคาะ ขึ้นรูป และย้ำหมุดทั่วไป
3.               ค้อนไม้ (Mallet) - เป็นค้อนที่ไม่ได้ทำมาจากโลหะ แต่ทำจากเนื้อไม้แข็งแทน จึงทำให้มีความยืดหยุ่นดีกว่าเหล็ก เมื่อใช้เคาะชิ้นส่วนใด ๆ จึงไม่เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสียหายน้อยมาก
4.               ค้อนสำหรับนักธรณีวิทยา (Geological hammer) เปรียบเสมือนได้ดั่งอาวุธประจำตัวของนักธรณี เนื่องจากเวลานักธรณีจะเก็บตัวอย่างหินกลับไปศึกษา จะต้องใช้ค้อนทุบให้เศษหินแตก ดังนั้นค้อนธรณีจึงเป็นต้องทำจากเหล็กกล้าที่มีความแข็งแรง และมีความทนทานมาก ลักษณะของหัวค้อนธรณี ก็จะมีด้านหนึ่งทู่เพื่อไว้ทุบ และอีกด้านหนึ่งของหัวค้อนจะแบนและแหลมเพื่อใช้ขุด ถาก งัด หรือเจาะ
5.               ค้อนเดินสายไฟ (Electrician Hammer) ส่วนใหญ่จะใช้กับงานไฟฟ้า หัวค้อนทำด้วยเหล็ก มีปลายด้านหนึ่งหน้าเรียบตรง และอีกด้านหนึ่งแบนแหลม สามารถใช้ตอกในที่แคบได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ค้อนเดินสายไฟกับการตอกตะปูเฟอร์นิเจอร์เล็ก ๆ ได้อีกด้วย
6.               ค้อนยาง (Rubber Hammer) – หัวค้อนทำมาจากยางพาราซึ่งผ่านกรรมวิธีทางแคมี ทำให้มีคุณสมบัติเหนียวนุ่ม ค้อนยางใช้สำหรับขึ้นรูปชิ้นงานที่มีเนื้ออ่อน หรือใช้ตอกเพื่อรักษาสภาพผิวงาน เช่น ใช้ในการตอกหรือเคาะก้อนบล็อกให้ได้แนวและระดับ
7.               ค้อนพลาสติก (Plastic Hammer) – หัวค้อนทำจากพลาสติกแข็ง หน้าตัดมีลักษณะกลม  ผิวนูนเล็กน้อย บริเวณขอบมน ค้อนพลาสติกหัวทั้งสองข้างจะเหมือนกัน มักใช้ตอกเพื่อรักษาสภาพผิวงานเช่นเดียวกับค้อนยาง  เพียงแต่ว่า หัวค้อนจะสามารถถอดเปลี่ยนได้ และยังมีน้ำหนักในการเคาะชิ้นงานได้มากกว่าค้อนยางอีกด้วย
8.               ค้อนปอนด์ (Heavy Hammer) – หน้าตัดมีรูปร่างเป็นรูปแปดเหลี่ยม ผิวหน้าจะนูน และลาดเอียงไปทางขอบ มีตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับใช้งานหนักทั่วไป เช่น ใช้ในการตอกเสาหลัก หรือการตีเหล็ก

แต่ถ้าจะให้แบ่งตามวัสดุที่นำมาผลิตเป็นค้อน สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.               ค้อนหัวแข็ง – ค้อนประเภทนี้ หัวค้อนจะถูกทำขึ้นจากวัสดุที่แข็งแรงมาก เช่นพวกเหล็กกล้า ที่นำมาตีขึ้นรูป
2.               ค้อนหัวแข็งปานกลาง – หัวค้อนก็จะถูกทำมาจากวัสดุที่มีความแข็งพอประมาณ เช่น ทองแดง หรือพลาสติก
3.               ค้อนหัวอ่อน – ค้อนประเภทนี้ หัวค้อนจะถูกทำมาจากวัสดุที่มีความหยุ่นในตัวเอง เช่น ยางไม้เนื้ออ่อน เป็นต้น

อ้างอิงจาก www.boomtools.net