วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555


เครื่องมือช่าง ไขควง(Screwdriver)


            ไขควง เป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานที่เราสามารถพบเจอได้ทั่วไป ใช้สำหรับการขันนอต และสกรู ที่ด้ามจับจะมีฉนวนหุ้มเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โดยขนาด และรูปทรงของไขควงจะถูกออกแบบตามลักษณะการใช้งาน ไขควงประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลัก ๆ 3 ส่วน ได้แก่ ด้ามไขควง(Handle) ก้านไขควง(Blade or Ferule) และปากไขควง(Tip)

                ด้ามไขควง – ถูกออกแบบให้มีรูปทรงที่สามารถจับได้อย่างถนัดมือ การบิดไขควงไปมาสามารถทำโดยใช้แรงได้มากสุด โดยส่วนใหญ่แล้วด้ามของไขควงจะทำจากวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ไม้ พลาสติก หรืออาจทำจากโลหะบางชนิด ก็ตามแต่ลักษณะการใช้งานครับ

                ปากไขควง – ปากไขควงทำจากเหล็กกล้าเกรดดี อาจจะเป็นทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็ได้ โดยเหล็กกล้าเหล่านี้จะถูกนำไปตีขึ้นรูปให้ลาดแบน และชุบแข็งด้วยความร้อน ในส่วนที่ไม่ได้ตีขึ้นรูป ก็จะกลายเป็นก้านไขควง

                ก้านไขควง – สำหรับไขควงที่เป็นก้านกลม จะใช้สำหรับงานเบา ส่วนไขควงที่เป็นก้านเหลี่ยม ก็จะใช้สำหรับงานหนัก เพราะก้านที่เป็นเหลี่ยมของมันจะสามารถใช้ประแจหรือคีมจับเพื่อเพิ่มแรงบิดของงานได้นั่นเอง

ไขควงมีอยู่ 2 ประเภทคือ
1.    ไขควงปากแบน คือ ไขควงที่มีลักษณะปากแบนเป็นเส้นตรง ลาดเอียงไปยังสุดของปลายไขควง ใช้ไขสกรูที่เป็นร่องเส้นเดียว
2.     ไขควงปากแฉก คือ ไขควงที่มีลักษณะปากเป็นสี่แฉก

ใช้ไขสกรูที่มีร่องของสกรูเป็นสี่แฉก เวลาบิดจะต้องใช้แรงกดที่ด้ามมากว่าไขควงปากแบน เพื่อไม่ให้เหลี่ยมของไขควงหลุดออกจากร่อง

นอกจากไขควงทั้ง 2 ประเภทนี้แล้ว ก็ยังมีไขควงอีกหลายประเภท ที่เป็นที่รู้จักกันเฉพาะในวงการช่าง เช่น

ไขควงปากบล็อก คือ ไขควงที่มีลักษณะปากเป็นบล็อกหกเหลี่ยม ใช้สำหรับสกรูที่มีร่องเป็นหกเหลี่ยม

ไขควงหัวคลัตช์ คือ ไขควงที่ใช้เฉพาะสำหรับงานโลหะแผ่น และงานตบแต่งที่ต้องการความประณีตสวยงาม

ไขควงเยื้องศูนย์ หรือ ไขควงออฟเสท คือ ไขควงที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับงานที่ไขควงปากแบนและไขควงปากแฉกใช้งานไม่ได้ เช่น ตามซอกมุมต่างๆ ไขควงชนิดนี้จะมีปากไขควงอยู่ที่ปลายก้านไขควงทั้งสองด้าน และก้านไขควงที่อยู่ตรงกลางทำหน้าที่เป็นด้ามไขควงด้วย แต่การใช้งานไขควงประเภทนี้จะต้องระวังหน่อย เพราะไขควงประเภทนี้จะหลุดออกจากสกรูได้ง่าย และทำให้สกรูเสียหายได้

                ก่อนจะใช้งานไขควงแต่ละครั้ง จะต้องตรวจสอบสภาพไขควงให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานทุกครั้ง คือ ปากไขควงจะต้องเรียบ ไม่มีรอยบิด เพราะไขควงที่ชำรุดสึกหรอ ไม่เรียบตรง ปากมีรอยบิดหรือแตกร้าว เมื่อไขควงเหล่านี้ถูกนำไปใช้งาน ปากของไขควงจะไม่สามารถสัมผัสกับร่องของหัวสกรูได้เต็มที่ เมื่อผู้ใช้งานออกแรงบิด ปากไขควงอาจเกิดการลื่นหลุดออกจากหัวสกรูและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้

วิธีใช้และการบำรุงรักษา

1.  ไม่ควรใช้ไขควงแทนสกัด ค้อน หรือสิ่ว

2.  ไม่ควรใช้ไขควงที่เปื้อนน้ำมัน เพราะอาจเกิดการพลาดพลั้งกระแทกมือได้

3.  ควรเลือกใช้ไขควงที่มีลักษณะปากตรงกับชนิดของหัวสกรู

4.  การใช้ไขควง ควรจับที่ด้ามของไขควง ไม่ควรใช้คีมจับด้ามไขควงขันสกรู

5.  ถ้าไขควงชำรุดต้องซ่อมทันที

6.  หลีกเลี่ยงการใช้ไขควงถอดหรือคลายสกรูเก่าที่ชำรุด

7.  เมื่อเลิกใช้แล้วควรทำความสะอาดและเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย

อ้างอิงจาก www.boomtools.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น